ไอศกรีมแท่ง:ความเป็นมา

Phanjai

13/12/2559

ไอศกรีมแท่ง หรือ ไอติมแท่ง  ภาษาอังกฤษ  คือ ice pop หรือ freezer pop ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เรียกไอศกรีมแท่งว่า "popsicle" ตามไอศกรีมแท่งยี่ห้อ "พ็อปซีเคิล" (Popsicle) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของไอติมแท่ง  ในสหราชอาณาจักรเรียกว่า ice lolly, lolly ice หรือ ice lollipop ส่วนในประเทศไอร์แลนด์ว่า "freeze pop" และในบางภูมิภาคของประเทศออสเตรเลียว่า "ice block ในประเทศนิวซีแลนด์เรียกว่าไอศกรีมแท่งว่า "icy pole" ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ ได้รับอิทธิพลจากไอศกรีมแท่งยี่ห้อ "ไอซีโพล" (Icy Pole)

ไอศกรีมแท่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1905 เมื่อแฟร็งก์ เอ็ปเพอร์สัน (Frank Epperson) เด็กชายวัยสิบเอ็ดปีชาวซานฟราสซิสโก  ได้ลืมแก้วน้ำผสมผงโซดา และเผลอเสียบแท่งไม้กวนอาหารทิ้งไว้ที่ชานหลังบ้าน พอรุ่งเช้า เอ็ปเพอร์สัน พบว่า น้ำในแก้วแข็งตัว  เขาจึงได้นำแก้วไปจุ่มน้ำร้อนให้น้ำแข็งเลื่อนหลุดจากแก้ว และเขาก็ได้โซดาแท่งที่เอร็ดอร่อยรับประทาน ต่อมาในปี คศ1922 เอ็ปเพอร์สันได้จดสิทธิบัตรของหวานดังกล่าว ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ไอศกรีมแช่แข็งเสียบไม้" (frozen ice on a stick) และตั้งยี่ห้อโดยเอาชื่อตนประสมเข้าไปว่า "ไอศกรีมแท่งเอ็ปซีเคิล" หรือ "เอ็ปซีเคิลไอซ์พ็อป" (Epsicle ice pop) ต่อมาเขาจึงกร่อนยี่ห้อลงเหลือ "พ็อปซีเคิล" (Popsicle) ตามที่ลูกชายเรียก

ไอศกรีมแท่งของเอ็ปเพอร์สันได้รับความนิยมเป็นอันมาก ถึงขนาดที่ต่อมา ยี่ห้อของเขาได้รับการบรรจุในพจนานุกรมว่า สามารถหมายถึงไอศกรีมแท่งทั่วไป ๆ ได้ไม่ว่ายี่ห้ออะไร สองสามปีให้หลัง เอ็ปเพอร์สันขายสิทธิในยี่ห้อ "พ็อปซีเคิล" ให้แก่บริษัทโจโล (Joe Lowe Company) จากนครนิวยอร์ก

มาพูดถึงในไทย เริ่มมาจากน้ำหวานใส่น้ำแข็งในปลายรัชสมัยรัชการที่ 4  ต่อมาพัฒนากลายเป็นไอติมหลอด  ซึ่งถือว่าเป็นไอติมแท่งยุคต้นๆของไทย วิธีการคือ นำน้ำหวานลงไปในหลอดโดยผสมออกเป็นหลาย รสชาติ ขณะเดียวกันก็ผสมสีลงไป ทั้งสีแดง สีส้ม สีเขียว สีดำ สีชา ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างความสวยงามแปลกใหม่ และสร้างแรงดึงดูดลูกค้า  และที่สำคัญมีการนำกลยุทธ์การตลาดแจกแถมขึ้นมาใช้กันด้วย โดยการนำสีแดงไปทาไว้ที่ไม้ไผ่ซึ่งใช้เสียบไอติมหลอด ใครซื้อได้ไม้เสียบสีแดง ก็จะนำไม้ มาแลกไอติมหลอดฟรีได้อีก 1 อัน

 การผลิตไอศกรีมแท่งในเมืองไทยสมัยแรก ๆ เป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน ใครทำอร่อยก็ทำขาย ใครมีหัวการค้าก็รับไปขายอีกต่อหนึ่ง นักเรียนรับไปขายเป็นรายได้พิเศษ ผู้ใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก ที่ขายไอติม เป็นอาชีพหลัก เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมาก เพียงแต่วางเงินมัดจำค่ากระติกใส่ไอติมและต้นทุนอีกเล็กน้อย ก็สะพายขึ้นไหล่ไปขายได้ทันที

จากกระติกสะพายไหล่พัฒนากลายเป็นรถเข็นที่มีตู้เก็บความเย็น สามารถใส่ไอติมได้คราวละมาก ๆ เดินเข็นขายได้ทั้งวัน  ต่อมาจึงเป็นซาเล้งหรือสามล้อถีบ ซึ่งช่วงแรก ๆ ก็ยังมีน้อยเพราะต้นทุนสูง

บริษัทป๊อบผู้ผลิตไอศกรีมตราเป็ด ผู้ผลิตไอศกรีมรายแรกของเมืองไทย ได้สั่งซื้อเครื่องทำไอศกรีมจากต่างประเทศ เข้ามาผลิตไอศกรีม  เน้นความสะอาดและคุณภาพ ทำให้ไอศกรีมเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ไอศกรีมตราเป็ดยุคแรก ๆ ยังเป็นไอติมหวานเย็น ต่อมาจึงมีการดัดแปลงรสชาติใหม่ ๆ เป็น เป็นรสระกำ เฉาก๊วย ลอดช่อง โอเลี้ยง ข้าวเหนียวแดง ถั่วดำ ฯลฯ

บริษัทป๊อป ลงทุนทำเป็นรถซาเล้งเพิ่มขึ้น มาจึงได้รับความนิยมเพราะคนขายไม่ต้องซื้อรถเอง โดยคนขายมีถือ Duck Call เสียงดังคล้ายเป็ด เพื่อเรียกลูกค้า นับตั้งแต่นั้นมาสามล้อถีบก็กลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ และกลยุทธ์ในการขายไอศกรีม หลายยี่ห้อ เช่น โฟร์โมสต์ ครีโม วอลล์ ฯลฯ

 ไอติมเหล่านี้มีลูกเล่นกับลูกค้าหลายรูปแบบ บางคนอาจจะเคยกินไอติมที่ปลายไม้ป้ายสีแดง แล้วนำไปแลกได้ฟรีอีก 1 แท่ง ขณะที่ไอติมป๊อปใช้วิธีสลักคำว่าฟรีบนไม้ ใครพบคำนี้นำมาแลกฟรี 1 แท่ง บางยี่ห้อใช้วิธีทายไม้สั้นไม้ยาว กำถั่ว โยนหัวโยนก้อย เหล่านี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลดีมาก ซาเล้งขายไอติมซึ่งมีทั้งแบบแท่งและถ้วยครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน

          

 

Visitors: 1,166,336